หัวใจเต้นรัวหรือเต้นเร็วจนรู้สึกได้ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ รู้สึกเหนื่อยง่าย สัญญาณเตือนโรคหัวใจห้องบนเต้นระริก ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองขาดเลือดได้ถึง 5 เท่ารวมทั้งเพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก ( Atrial Fibrillation ) หรือ AF เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ อุบัติการณ์การเกิดพบร้อยละ1-2 ในประชาชนทั่วไป แต่โรคนี้จะพบบ่อยขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ80-90 ปีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ5-15 สิ่งที่สำคัญคือ คนที่เป็นโรคนี้เพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคสมองขาดเลือดได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปและเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวนอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตด้วย
พญ.ชาร์มิลา เสรี อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกหรือ “AF” คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่ง โดยทั่วไป การทำงานของหัวใจจะควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ในภาวะปกติหัวใจห้องบนและห้องล่างจะทำงานสัมพันธ์กัน แต่ในAF หัวใจห้องบนจะมีวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป เลือดจึงหมุนวนตกค้างอยู่ในหัวใจห้องบนจนก่อให้เกิดลิ่มเลือดได้ ซึ่งสามารถหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตฉับพลันได้
พญ.ชาร์มิลา ระบุว่า สาเหตุของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น คนไข้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
กลุ่มที่สองเกิดจากโรคในระบบอื่นๆ เช่น คนไข้เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษโรคปอดเรื้อรังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะหลังการผ่าตัดและกลุ่มที่สาม ไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
คนที่เป็นโรคนี้กว่าครึ่งจะไม่มีอาการ อาการที่พบได้ เช่น อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเวลาที่ออกแรงทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนศรีษะหากโชคร้ายจะมาด้วยผลแทรกซ้อน เช่น เป็นอัมพาตจากโรคสมองขาดเลือดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
ในการตรวจเบื้องต้น พญ.ชาร์มิลา แนะนำให้ตรวจชีพจรด้วยตนเอง โดยให้คนไข้หงายข้อมือข้างที่ไม่ถนัดขึ้น คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ถนัดมาสัมผัสร่องบริเวณใต้ข้อมือด้านฐานของนิ้วโป้ง จะคลำพบชีพจรเต้น หัวใจเต้น 1 ครั้ง...เท่ากับชีพจรเต้น 1 ครั้งในภาวะปกติความรู้สึกที่เราได้จากการสัมผัสจะชัดเจนและสม่ำเสมอ แต่คนที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกชีพจรจะไม่สม่ำเสมอทั้งความแรงและจังหวะความถี่ห่างไม่เท่ากัน หากสังเกตเห็นลักษณะที่ผิดปกติให้รีบมาปรึกษาแพทย์
โดยแพทย์จะทำการประมวลจากประวัติการตรวจร่างกาย และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)หรือ ECG หากตรวจพบว่ามีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก แพทย์จะแนะนำให้ตรวจดูโครงสร้างหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) และตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป
วัตถุประสงค์หลักในการรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก คือการรักษาอาการและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน สำหรับแนวทางการรักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการควบคุมอัตราการเต้นหัวใจ เป็นการให้ยาเพื่อควบคุมไม่ให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วเกินไป เพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วย กลุ่มที่สองเป็นการควบคุมจังหวะที่ผิดปกติ ให้เป็นปกติ ซึ่งกลุ่มนี้มี 2ทางเลือกอย่างแรกคือการรักษาด้วยยา อย่างที่สองเป็นการจี้รักษา คือการใส่สายเข้าไปที่หัวใจห้องบนเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) หรือการใช้ความเย็นจัด (Cryoballoon Ablation)และที่สำคัญคือการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตด้วยการรับประทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หรือเรียกว่า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
แนวทางการป้องกันโรคโดยตรงนั้นไม่มีแต่สิ่งที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็คือ คนไข้ควรจะใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองสม่ำเสมอ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อทราบถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของตนเอง พร้อมปรับพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อย5วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ30นาที รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและควบคุมน้ำหนักให้พอเหมาะ งดการสูบบุหรี่ ควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรจะควบคุมให้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
เนื่องในวันที่ 30 กันยายน เป็นวันหัวใจเต้นระริกสากล หรือ AF DAY (Atrial Fibrillation Awareness Day) จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจในการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และเมื่อมีอาการ ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ดูแลหัวใจของคุณให้ดี เพราะคุณมีหัวใจดวงเดียว
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ข้อมูลภาวะโรคหัวใจเต้นระริก เว็บไซด์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บข่าว กรุงเทพธุรกิจ
4 ก.พ. 61 / อ่าน 133
22 ม.ค. 61 / อ่าน 152
26 พ.ย. 60 / อ่าน 287
9 พ.ย. 60 / อ่าน 208
2 พ.ย. 60 / อ่าน 236
1 พ.ย. 60 / อ่าน 203